Official Website: www.aclc-asia.com
บทความ Growth Mindset และการพัฒนาทีมงาน
บทความโดย ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ
ปัจจุบัน การสนับสนุนให้คนในองค์กรมี Growth Mindset และความสนอกสนใจในการเรียนรู้และใส่ใจพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปริมาณและความคาดหวังในการสร้างผลงานทำให้คนในองค์กรใช้เวลาแต่ละวันไปกับการบรรลุเป้าหมายระยะสั้น จนลืมเลือนการเรียนรู้เพื่อความสำเร็จในระยะยาว
ในการกระตุ้นให้บุคลากรในทีมงานเรียนรู้ เติบโต ผู้นำอาจเริ่มจากการลองประเมินสถานการณ์ปัจจุบันในทีมก่อนว่ามีประกอบในเก้าข้อนี้หรือไม่
- สังเกตได้ว่าบุคลากรมีความสนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ถึงแม้จะเป็นเรื่องใหม่ๆ ที่พวกเขายังไม่คุ้นเคยมาก่อน
- ในทีมงานต่างๆ ผู้นำทีมมักมีการสนทนาที่กระตุ้นให้สมาชิกในทีมฝึกคิดด้วยตนเอง และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ถึงแม้จะแตกต่างจากผู้อื่น
- ความคิดเห็นใหม่ๆ ไม่โดนฆ่า หรืออีกนัยหนึ่งคือ การทดลองไอเดียใหม่ๆ ในทีมงานต่างๆ ได้รับการรับฟังหรือการสนับสนุน
- ความผิดพลาดที่เกิดขั้นในงาน คนมองว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้ และเป็นโอกาสในการนำมาพัฒนาให้ดีขึ้น
- การพัฒนาและโอกาสในการเรียนรู้ในองค์กร ไม่ได้ถูกจำกัดไว้ที่ระดับใด ระดับหนึ่งในองค์กร แต่ได้รับโอกาสทุกระดับ อย่างไรก็ตามมีการจัดให้เหมาะสมกับเวลาของแต่ละระดับ
- องค์กรเสนอรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่น่าเบื่อ เช่น การเรียนรู้โดยการรับฟังและคิดสะท้อนตามไปด้วย (Learning by listening and reflection), เรียนรู้โดยการนำมาถ่ายทอดต่อให้ผู้อื่นฟัง (Learning by sharing) และ เรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ (Learning by doing) เป็นต้น
- บุคลากรรับรู้ได้ว่า องค์กรของเรามีแผนหรือระบบการพัฒนาผู้สืบทอด หรือมีคู่มือเพื่อให้แนวทางพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่ตำแหน่งที่สนใจในอนาคต และผู้นำสนับสนุนให้บุคลากรมีความก้าวหน้า
- บุคลากรมองว่า โอกาสในการไปเรียนรู้ หรือเข้าอบรม เป็นรางวัลที่ได้รับ
- สิ่งแวดล้อมในองค์กรสนับสนุนนวัตกรรม เช่น สถานที่ทำงานที่มีพื้นที่ ที่เปิดให้นำความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มาแบ่งปันกัน
หากพบว่ายังขาดข้อใดไป ก็สามารถเพิ่มเสริมสนับสนุนในแต่ละข้อได้ เช่น ในข้อหนึ่งถึงสี่ ผู้นำของทีมควรเพิ่มการสนทนาแบบโค้ชกับทีมงาน เพราะการโค้ชหมายถึงการตั้งคำถามที่ดีด้วย เพื่อกระตุ้นความสนใจให้คนเข้ามามีส่วนร่วม
ในข้อ ห้าและข้อหก องค์กรสามารถเพิ่มรูปแบบการเรียนรู้ที่ผสมผสานวิธีการต่างๆ เพิ่มการเรียนรู้ผ่านสื่อที่มีประโยชน์ต่างๆ นอกเวลาอบรมด้วย ที่สำคัญการออกแบบเหล่านี้ควรปรับให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed learning style) ของผู้เข้าร่วมด้วย
ในข้อเจ็ดถึงเก้า เป็นการเสริมเรื่องแรงจูงใจให้คนสนใจเรียนรู้ ซึ่งมีทั้งด้านจิตใจ และกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อมภายนอก
***************************
Contact us: Tel: (66) 2197 4588-9 Email. info@aclc-asia.com
Official website: http://www.aclc-asia.com