เทปบันทึก สัมภาษณ์ ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ ในรายการ Club Jobber
การโค้ช (Coaching)
การโค้ชผู้บริหาร (Executive Coaching)
บทความโดย ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ
การพัฒนาผู้บริหารในรูปแบบการโค้ชกำลังเป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบที่ผู้บริหารมีโค้ชมืออาชีพเข้ามาเป็นผู้ช่วยหรือคู่คิด หรือการพัฒนาให้ผู้บริหารเป็นโค้ชในองค์กร เพื่อใช้การโค้ชเป็นหนึ่งวิธีในการบริหารจัดการทีมงานของตนเอง ปัจจุบันองค์ความรู้ด้านการโค้ชเป็นระบบ และมีการวิจัยสนับสนุน มีวารสารตีพิมพ์งานวิจัยในต่างประเทศเฉพาะด้านการโค้ชผู้บริหารระดับสูงมากกว่า 55 ฉบับ ในต่างประเทศมีสถาบันการศึกษาที่เปิดให้เรียนระดับปริญญาด้านนี้โดยเฉพาะ

การโค้ชผู้บริหาร (Executive Coaching) หมายถึง กระบวนการการพัฒนาในรูปแบบตัวต่อตัว เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้บริหาร โดยมักเป็นความสัมพันธ์แบบเป็นทางการ ระหว่างหน่วยงานที่ว่าจ้าง ซึ่งอาจเป็นฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ หรือผู้รับผิดชอบด้านศักยภาพผู้บริหาร และมีโค้ชผู้บริหาร และแน่นอนคือผู้บริหารที่ได้รับการโค้ช ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบหรือผลกระทบต่อผลงานและบรรยากาศของทีมและขององค์กร
การสำรวจจากสถาบันต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (ค.ศ. 2009) เผยว่า โค้ชผู้บริหารมักได้รับการว่าจ้างไปช่วยผู้บริหารในด้านใดบ้าง
- ช่วยพัฒนาความสามารถของผู้บริหารระดับต่างๆที่มีศักยภาพในการเติบโตต่อไปขององค์กร
- โค้ชทำหน้าที่คล้ายๆเป็นกรรมการหรือคนกลางที่ผู้อื่นมักขอความคิดเห็น มุมมองเกี่ยวกับด้านกลยุทธ์ต่างๆ ขององค์กร
- โค้ชช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ตกรางบางประการของผู้บริหารที่อาจส่งผลต่อคนรอบข้างและองค์กร
- โค้ชช่วยเพิ่มสมรรถนะในการผลักดันและขับเคลื่อนทีมงานของผู้บริหารให้เกิดประสิทธิผล

นอกจากชื่อเสียงและการบอกต่อแล้ว คุณสมบัติของโค้ชที่องค์กรมักมองหานั้น มักพิจารณาคุณสมบัติเช่น
หนึ่งสมรรถนะหลักของโค้ชและความเข้าใจในกระบวนการโค้ช ถ้าเราอิงจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation) ก็จะมีสิบเอ็ดข้อ สถาบันอื่นๆก็นิยามออกมาคล้ายกัน โดยพื้นฐานแล้วโค้ชที่ดีเชื่อในศักยภาพของคน และเข้าใจว่ากระบวนการโค้ชเป็น การเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวหรือแรงจูงใจของผู้ได้รับการโค้ช (inside-out) มากกว่าจากแรงจูงใจภายนอก (outside-in) ถึงแม้บางครั้งจะพิจารณาการสนับสนุนจากสิ่งแวดล้อมบางประการ
สองคือ มีพื้นฐานจิตวิทยาบ้าง หรือเข้าใจปัจจัยที่หล่อหลอมพฤติกรรมของคน
สามเป็นผู้ที่บริหารจัดการสัมพันธภาพระหว่างบุคคลได้ดี มีทักษะการสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์ เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ เพราะพฤติกรรมผู้บริหารระดับสูงมักมีผลกระทบต่อภาพใหญ่ด้วย
สี่เป็นเรื่องจริยธรรม วางตัวน่าเชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจและเก็บความลับได้
สำหรับโค้ชผู้บริหารระดับสูง องค์กรมักมองหาเพิ่มอีกข้อคือ โค้ชเข้าใจธุรกิจ ระบบและพลวัตรขององค์กรได้ดี มองภาพใหญ่ได้ สื่อสารกับผู้บริหารระดับสูงได้เข้าอกเข้าใจกัน
กระบวนการโค้ช เริ่มจากการพูดคุยกันก่อน เพื่อความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจกัน จากนั้นโค้ชจะสื่อสารให้เข้าใจขั้นตอนและกระบวนการ ข้อจำกัด ความโปร่งใส และความหมายของการโค้ช นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความรับผิดชอบที่ผู้บริหารต้องมีคืออะไร ประเด็นหรือเป้าหมายการพัฒนาเป็นด้านใด ตกลงกันว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ การเข้าใจให้ตรงกันตั้งแต่ต้นสำคัญต่อกระบวนการที่ตามมา หลังจากการโค้ช มักมีการประเมินผลซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลงตั้งแต่ต้น ว่าจะทำอย่างไร
ความสำเร็จในการโค้ชขึ้นอยู่กับตัวผู้บริหารเองด้วย โค้ชซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก บางท่านเช่น ดร. มาแชล โกลด์สมิท (Dr. Marshall Goldsmith) โดยปกติไม่รับค่าตัว ถ้าผู้บริหารไม่เปลี่ยนแปลงหลังจากการโค้ช ดังนั้นท่านจะคุยกับผู้บริหารให้มั่นใจก่อน และประเมินว่าเป็นผู้ที่โค้ชได้หรือไม่ อีกทั้งมีความตั้งใจที่จะพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นท่านก็จะแนะนำให้ติดต่อโค้ชท่านอื่นหรือใช้วิธีอื่นๆในการพัฒนาแทนนะคะ

Official website: www.aclc-asia.com
Contact us:
(66) 2197 4588-9
Email: info@aclc-asia.com
Like this:
Like Loading...